หนังสือพระราชนิพนธ์
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี



พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2532
ประเทศ นอร์เวย์ เดนมาร์ก
กลับไปหน้าที่แล้ว

คืนฟ้าใส


     พระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๙ จากบันทึกการเสด็จพระราชดำเนินเยือนราชอาณาจักรนอร์เวย์ และราชอาณาจักรเดนมาร์ก ระหว่างวันที่ ๑๗- ๒๖ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๓๒ พระราชดำริเกี่ยวกับการเดินทางครั้งนี้ ได้ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในคำนำว่า

     “หลังจากเคร่งเครียดกับการดูงานวิชาการ ดังที่ได้พรรณนาไว้ในหนังสือ “ปริศนาดวงดาว” แล้ว ในปีเดียวกันยังได้ไปประเทศนอร์เวย์ นับเป็นประสบการณ์ที่ดีคือได้ศึกษาพื้นที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหนือเส้นอาร์กติก ดินฟ้าอากาศช่วงนี้สว่างกระจ่างแจ้ง จึงเป็นที่มาของชื่อหนังสือ “คืนฟ้าใส”

     ข้าพเจ้าได้ไปนอร์เวย์ครั้งนี้เป็นครั้งแรก ถึงจะเป็นระยะเวลาอันสั้น ก็พยายามสังเกตความเป็นไปของประเทศเท่าที่จะเป็นไปได้ ทั้งในด้านกายภาพ สังคม เศรษฐกิจ การเมือง พอที่จะเป็นบันทึกไว้ได้ เมืองหลายเมืองที่ข้าพเจ้าไปถึง เป็นเมืองที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จพระราชดำเนินเมื่อ ๘๐ ปีมาแล้ว ได้อ่านในพระราชนิพนธ์ “ไกลบ้าน” จึงขออัญเชิญพระราชนิพนธ์มาลงพิมพ์ไว้ด้วยเพื่อท่านผู้อ่านจะได้เปรียบเทียบอย่างชัดเจนด้วยตนเองว่าในเวลาเกือบศตวรรษ มีสิ่งใดที่คงอยู่อย่างเดิม หรือเปลี่ยนไปเช่นใด”

     ในการเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้ ได้ประทับเครื่องบินพระที่นั่งจากกรุงเทพ ฯ เสด็จฯ ไปยังกรุงโคเปนเฮเกน ราชอาณาจักรเดนมาร์ก จากนั้นประทับเครื่องบินพระที่นั่ง เสด็จฯ ไปยังกรุงออสโล ราชอาณาจักรนอร์เวย์ เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรสถานที่ที่น่าสนใจต่าง ๆ  ได้แก่ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ ทรงฟังการบรรยายเกี่ยวภูมิสัณฐานและธรณีวิทยาของนอร์เวย์ ทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์แร่ ซากดึกดำบรรพ์ต่าง ๆ ภูเขาโฮลเมนคอลเลน ซึ่งเป็นสถานที่กระโดดสกีที่มีชื่อเสียงและมีพิพิธภัณฑ์สกี  ศูนย์การศึกษาเพื่อบุคคลตาบอดและสายตาไม่ปรกติ ทอดพระเนตรกิจกรรมการสอนนักเรียน และการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้พิการ การฝึกงานซึ่งเป็นส่วนของอาชีวบำบัด บริษัท นอร์สก์ ไฮโดร ซึ่งมีกิจการเกี่ยวกับการผลิตปุ๋ย กิจการน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ

     เสด็จฯ ไปเฝ้าพระเจ้าโอลาฟ ณ พระราชวังหลวง แล้วโดยเสด็จฯ ไปยังพระราชวังฤดูร้อน ซึ่งพระเจ้าโอลาฟพระราชทานเลี้ยงพระกระยาหารกลางวัน ต่อจากนั้น เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์เรือไวกิ้ง พิพิธภัณฑ์พื้นเมือง (Folk Museum) ทอดพระเนตรนิทรรศการภายนอกอาคาร มีบ้านชาวนาแบบต่าง ๆ ที่นิยมปลูกหญ้าไว้บนหลังคาเพื่อป้องกันไม่ให้หลังคาปลิว และบางครั้งชาวนาก็นำแพะขึ้นไปกินหญ้าบนนั้น  ทรงพระดำเนินทอดพระเนตรทัศนียภาพอาณาบริเวณโดยรอบซึ่งมีทุ่งหญ้า ภูเขา ป่าไม้ มีโรงเรียนโบราณ โบสถ์โบราณสมัย ค.ศ. ๑๒๐๐

     เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมมหาวิทยาลัยเกษตรที่เมืองออส ซึ่งเมืองนี้เคยเป็นดินแดนใต้ธารน้ำแข็งมาก่อน เมื่อหมดยุคน้ำแข็ง น้ำทะเลเข้ามาท่วม พอน้ำแห้งพื้นดินจึงกลายเป็นพื้นที่เกษตรที่อุดมสมบูรณ์มาแต่ยุคโบราณ ทรงฟังการบรรยายเกี่ยวกับความเป็นมาของมหาวิทยาลัยและการพัฒนาการเกษตรของนอร์เวย์ ทอดพระเนตรกิจการโคนม แผนกสัตวบาล และภาควิชาต่าง ๆ

     เสด็จฯ ไปยังเมืองทรอนไฮม์ ระหว่างทาง ทรงแวะเยี่ยมพิพิธภัณฑ์ดนตรีริงเว ซึ่งเป็นแหล่งสะสมเครื่องดนตรีจากทั่วโลก ทอดพระเนตรโบสถ์นีดารอส ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จฯ มาทอดพระเนตร โบสถ์นี้เป็นสถานที่สำคัญหลายประการ คือเป็นที่ฝังศพเซนต์โอลาฟ กษัตริย์ไวกิ้งที่เข้ารีตนับถือคริสต์ศาสนา เป็นสถานที่ประกอบพิธีบรมราชาภิเษกกษัตริย์นอร์เวย์หลายพระองค์ เป็นที่เก็บและจัดแสดงเครื่องราชกกุธภัณฑ์ และมีออร์แกนที่ใหญ่ที่สุดในสแกนดิเนเวีย คือมีท่อถึง ๙,๐๐๐ ท่อ เสด็จฯ ไปยังมูลนิธิการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และการอุตสาหกรรม  ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปเหนือและดำเนินงานโดยไม่คิดหวังผลกำไร มีขอบข่ายงานศึกษาวิจัยด้านต่าง ๆ อาทิ สภาพแหล่งน้ำ การกำจัดน้ำเสีย การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การป้องกันน้ำท่วมและการกัดเซาะ เป็นต้น

     จากนั้น ประทับเครื่องบินพระที่นั่งจากเมืองทรอนไฮม์ ซึ่งอยู่ในเขตอบอุ่น (Temperate Zone) คือบริเวณที่อยู่ระหว่างเส้นทรอปิกออฟแคนเซอร์ ๒๓ ๑/๒  องศาเหนือ) กับเส้นอาร์กติกเซอร์เคิล (๖๖ ๑/๒ องศาเหนือ) เสด็จฯ  ไปยังเมืองทรอมซือ ซึ่งเป็นการบินข้ามเส้นอาร์กติกเซอร์เคิล (๖๖ ๑/๒ องศาเหนือ) เข้าสู่เขตอาร์กติก

     ณ เมืองทรอมซือ เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรท้องฟ้าจำลอง (Planetarium) ทอดพระเนตรการแสดงความเป็นมาของแสงเหนือ (Northern Lights) และชีวิตบริเวณขั้วโลกเหนือ ทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์ทรอมซือ ซึ่งจัดแสดงชีวิตในนอร์เวย์ทางเหนือสมัยก่อน  และชีวิตความเป็นอยู่ของชาวแล้ป (Lapps) ซึ่งนิยมเลี้ยงกวางเรนเดียร์ไว้เป็นสัตว์เศรษฐกิจ และเป็นเครื่องแสดงฐานะความร่ำรวยของเจ้าของ

     เสด็จฯ ไปยังเมืองโฮนนิงสโว้ก ประทับเรือยนต์พระที่นั่ง ทอดพระเนตรทิวทัศน์ มีภูเขาหิน บางช่วงมีน้ำตกเล็ก ๆ ไหลลงทะเล ทอดพระเนตรวิธีการตกปลาของชาวนอร์เวย์ ซึ่งไม่ใช้คันเบ็ด แต่ใช้เชือกพลาสติกหย่อนลงไปในทะเล ปลายเชือกมีตะขอหลายตะขอ มีพลาสติกสีแดงอยู่เหนือตะขอเพื่อล่อปลาให้มางับตะขอ ส่วนใหญ่เป็นปลาค้อด และปลา Coal Fish หรือมีอีกชื่อว่า Rock Salmon ทอดพระเนตรเกาะนก ซึ่งมีนกนางนวลจำนวนมาก  

     เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรโบสถ์ประจำเมืองทรอมซือ สร้างขึ้นใน ค.ศ. ๑๘๘๕ เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมบริษัท FRIONOR ทำกิจการจับปลา แปรรูปเป็นปลาแช่แข็ง และส่งขายทั่วโลก  เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมพิพิธภัณฑ์นอร์ดแคป ทอดพระเนตรนิทรรศการท้องถิ่นประกอบแผนที่ จัดแสดงวิธีการถนอมอาหารของท้องถิ่นคือการทำปลาแห้ง  และชีวิตความเป็นอยู่ของชาวประมงสมัยก่อน
 

     เสด็จฯ ไปทรงเปิดศาลาไทยที่  Nordkapp Plateau มีห้องเก็บหินที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยไว้ และจัดแสดงเอกสารต่าง ๆ เกี่ยวกับการเสด็จฯ ในครั้งนั้น สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงบันทึกถึงการเสด็จฯ นอร์ดแคป ความตอนหนึ่งว่า

     “...การเยือนนอร์ดแคปของข้าพเจ้าเป็นไปอย่างง่าย ๆ เพียงได้ไปถึงที่ที่สูงสุดคือ ๗๑ องศา ๑๐ ลิปดา ๒๑ พิลิปดา ตัวเลขนี้เขียนไว้ที่ของที่ระลึกทุก ๆ อย่าง โปสการ์ดก็มีเขียนไว้ ข้าพเจ้าส่งการ์ดถึงใคร ๆ ที่นี่ เพราะจะได้มีปั๊มตรา Nordkapp เขาออกตราปั๊มพิเศษวันเปิดศาลาไทยสำหรับซองจดหมาย

     พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทางเรือ แล้วปีนหน้าผาขึ้นมา การปีนต้องทำได้ยากมาก เพราะหินร่วน แตกกะเทาะง่าย ในพระราชนิพนธ์ “ไกลบ้าน” ก็ได้มีพระราชวิจารณ์ในเรื่องนี้...”

     วันต่อมา เสด็จฯ ไปทรงสำรวจพื้นที่ ซึ่งอยู่ในเขตภูมิอากาศแบบทุนดรา เสด็จฯ ผ่านเส้น ๗๑ องศา ทอดพระเนตรทัศนียภาพที่ราบสูงนอร์ดแคป ลักษณะหินซึ่งเป็นหินอายุน้อยคือ ๔๐๐ ล้านปี ส่วนใหญ่เป็นหินปูน ระบบพืชบนหินปูนซึ่งแตกต่างจากที่อื่น ความเป็นอยู่และกระโจมของชาวแล้ป หมู่บ้านประมงสการ์สโว้ก

     เสด็จฯ ไปยังเมืองเบอร์เกน เป็นเมืองท่าใหญ่และเมืองการค้าที่สำคัญของนอร์เวย์ ประทับรถยนต์พระที่นั่งไปยังเมือง Voss ผ่านเส้นทางที่มีอุโมงค์เจาะผ่านภูเขามาก ทรงแวะที่เมืองฮาร์ดังเกอร์ ซึ่งเป็นฟยอร์ดใหญ่ มีน้ำตกสวยงามและน้ำเย็นมากเพราะเป็นน้ำที่มาจากหิมะละลาย เส้นทางที่เสด็จ ฯ เลียบทางรถไฟ ภูเขาสูงและลำธารน้ำเชี่ยว ภูเขาสูงเกินเส้นหิมะ (Snowline) ไม่มีต้นไม้ขึ้น เสด็จฯ ไปยังโรงแรมสตาลไฮม์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จฯ มาทอดพระเนตรทัศนียภาพที่มีลักษณะสวยงามแปลกตา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จึงได้ทรงวาดภาพไว้ ชื่อว่า “ทางวกวน, นอร์เวย์ ” เมือง Voss นี้ เป็นที่แบ่งน้ำระหว่างน้ำที่จะไหลไปออสโลและเบอร์เกน ด้วยบริเวณนี้มีน้ำและน้ำตกมาก ภูมิประเทศที่สวยงามจึงมีนักท่องเที่ยวมากมายมาตั้งแต่สมัยโบราณ

     เสด็จฯ ต่อไปยังเมืองกุดวางเกน ข้ามเขตมณฑลเข้าเขตมณฑล Sogn og Fjordane ทอดพระเนตรภูมิประเทศที่สวยงาม มีภูเขา ลำธารน้ำเชี่ยวเป็นแก่ง น้ำตกจำนวนมากจนทรงมีพระราชปรารภว่า  “...กล่าวโดยสรุปน้ำตกที่เห็นวันนี้วันเดียวมีจำนวนมากกว่าน้ำตกที่ข้าพเจ้าเคยเห็นมาตลอดชีวิต...”  ต่อมา เสด็จฯ ไปยังท่าเรือกุดวางเกน ประทับเรือยนต์พระที่นั่ง ทอดพระเนตรทัศนียภาพ Naeroyfjord คำว่า Naeroy มีความหมายว่า แคบ สองฟากฟยอร์ดเป็นผาชัน และ Sogne fjord เป็นฟยอร์ดที่สำคัญ มีน้ำลึกนับพันเมตร และเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าพลังน้ำผ่านแสงไฟแรงสูงยาวถึง ๖ กิโลเมตร ทอดพระเนตรธารน้ำแข็งจากระยะไกล เสด็จฯ ถึงโรงแรม Kvikne’s Hotel อยู่ที่เมือง Balestrand เป็นโรงแรมเก่าแก่ ทรงพระดำเนินทอดพระเนตรตัวเมือง ซึ่งได้ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ว่า

      “...ข้าพเจ้าชอบดูบ้านนอร์เวย์มาก เป็นบ้านไม้ทาสีต่าง ๆ มีสวนเล็ก ๆ อยู่ข้างหน้า เดินไปถึงโบสถ์เล็ก ๆ ทำด้วยไม้ตามศิลปะนอร์เวย์ คือหลังคาเป็นชั้น ๆ มีช่อฟ้า ตอนกลับมาเมืองไทย ข้าพเจ้าให้เพื่อน ๆ ดูรูปโบสถ์นอร์เวย์ เพื่อนคนหนึ่งบอกว่าลักษณะคล้าย “จอง” โบสถ์ที่มีมากที่แม่ฮ่องสอน...”

     วันต่อมา เสด็จฯ โดยเรือยนต์พระที่นั่งไปยังเมือง Vangsnes ทอดพระเนตรโบสถ์ไม้โบราณในศาสนาคาทอลิก ชื่อ Stave Church สร้างขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. ๑๑๓๐ มีอายุมากกว่าประเทศนอร์เวย์สองเท่า มีเสาไม้เป็นหลักในการประกอบไม้ของอาคารทั้งหลัง  แล้วเสด็จฯ ไปยังเมือง Voss เพื่อประทับรถไฟพระที่นั่งต่อไปเมืองเบอร์เกน เสด็จฯ โดยเครื่องบินพระที่นั่งจากเบอร์เกนไปยังออสโล และเสด็จฯ ต่อไปเมืองคองสเบิร์ก โดยรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จฯ ไปยังบริษัทซิสสแกน มีระบบงานเกี่ยวกับการผลิตแผนที่ให้มีความถูกต้องสูง การบริหารใช้ระบบ LIS/GIS การศึกษาระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ และการเก็บข้อมูลโดยอัตโนมัติ เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมโรงกษาปณ์ พิพิธภัณฑ์เหมืองเงิน

     เสด็จฯ โดยเครื่องบินพระที่นั่งไปยังกรุงโคเปนเฮเกน ราชอาณาจักรเดนมาร์ก ทอดพระเนตร พระราชวังคริสเตียนบอร์ก ซึ่งสมเด็จพระบรมราชินีนาถยังทรงใช้รับรองแขก  ทอดพระเนตรภาพเขียนและห้องสมุดส่วนพระองค์